Rule

Rule 2018-03-29T12:39:47+07:00

ระเบียบข้อบังคับของ

สมาคมทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทย

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทย” ย่อว่า “สรท” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAI ASSOCIATION OF DENTAL IMPLANTOLOGY” ย่อว่า “TADI”
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป ดังแสดงข้างล่าง.มีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมความรู้ทางด้านวิชาการ

ด้านทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทย

รูปของเครื่องหมายสมาคมฯ

ข้อ 3 สำนักงานใหญ่ของสมาคมฯ ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 1939 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ เพื่อ

4.1 เป็นศูนย์กลางทางด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของทันตแพทย์ที่สนใจทางด้านนี้
4.2 ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมระบบต่างๆ เพื่อให้ทันตแพทย์ไทยมีความรู้ และสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคนไข้
4.3 ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนา วิชาชีพ การเรียน การสอน การอบรม สัมมนาเพื่อสร้างมาตรฐานด้าน วิชาการรากฟันเทียมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ
4.4 เป็นตัวแทนของทันตแพทย์ไทยติดต่อกับต่างประเทศในด้านทันตกรรมรากเทียม
4.5 เป็นแหล่งข้อมูล ความรู้ ด้านวิชาการรากฟันเทียม เพื่อเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป
4.6 สนับสนุน และปกป้องการปฏิบัติวิชาชีพทางด้านรากฟันเทียมอย่างถูกต้องของมวลสมาชิก

หมวดที่ 2 สมาชิก

ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ

5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ ทันตแพทย์ผู้ได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาทันตกรรมให้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในประเทศไทย และไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว
5.2 สมาชิกสมทบ ได้แก่ นิติบุคคลสัญชาติไทยที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับรากฟันเทียม
5.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคมฯ ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ

ข้อ 6 สมาชิกสามัญจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

6.1 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.2 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.3 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถหรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษการต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เท่านั้น

ข้อ 7 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมฯ

7.1 สมาชิกสามัญจะต้องเสียค่าลงทะเบียน 1,000  บาท ค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 500  บาท หรือค่าบำรุงตลอดชีพ (ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน) 4,000 บาท
7.2 สมาชิกสมทบจะต้องเสียค่าลงทะเบียน 1,000 บาท ค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 500 บาท
7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมฯ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
7.4 ค่าบำรุงรายปี ให้เริ่มนับตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ
7.5 สมาชิกที่ขาดส่งค่าบำรุง ไม่เกิน 2 ปี ต้องเสียค่าบำรุงย้อนหลังโดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

ข้อ 8 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ

8.1 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6
8.2 ให้ยื่นใบสมัครต่อเลขานุการของสมาคมฯ โดยมีสมาชิกสามัญ หรือคณะกรรมการรับรองอย่างน้อย 2 คน
8.3 สมาชิกภาพจะสมบูรณ์เมื่อคณะกรรมการดำเนินงานอนุมัติรับ และได้ชำระค่าบำรุงครบถ้วนแล้ว

ข้อ 9 ถ้ากรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมฯ ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้แจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัคร ไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงภายในกำหนดก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาคมฯ ได้รับหนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่ คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ

ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

11.1 ตาย
11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติและสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมฯ เป็นที่เรียบร้อย
11.3 ขาดคุณสมบัติของการเป็นสมาชิก
11.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคมฯ
11.5 สมาชิกขาดส่งค่าบำรุงประจำปีติดต่อกัน 2 ปี

ข้อ 12 สิทธิ และหน้าที่ของสมาชิก

12.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมฯ โดยเท่าเทียมกัน
12.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมฯ ต่อคณะกรรมการ
12.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมฯ ได้จัดให้มีขึ้น
12.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคมฯ
12.5 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมฯและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
12.6 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 5 ท่านของสมาชิกสามัญทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจดูเอกสาร และบัญชีทรัพย์สินของสมาคมฯ
12.7 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
12.8 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมฯ โดยเคร่งครัด
12.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ
12.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคมฯ
12.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมฯ ได้จัดให้มีขึ้น
12.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมฯ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
12.13 สมาชิกสมทบมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง หรือลงมติต่างๆ ในที่ประชุมโดยผ่านตัวแทนนิติบุคคลสมาชิกละ 1 เสียง

หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการสมาคมฯ

ข้อ 13 ให้จัดตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมฯ มีจำนวนอย่างน้อย 10 คน อย่างมากไม่เกิน 25 คน โดยให้มีนายกสมาคมฯ 1 คน และอุปนายกสมาคมฯ 1 คน มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ นายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ต้องเป็นทันตแพทย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของสมาคมฯ ส่วนคณะกรรมการ ในตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกสมาคมฯ เป็นผู้แต่งตั้งโดยคัดเลือกจากสมาชิกสามัญของสมาคมฯ การแต่งตั้งกรรมการของสมาคมฯ ขึ้นใหม่ทั้งชุด หรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมฯ สมาคมฯ ต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมฯ ตั้งอยู่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมฯ

ข้อ 14 ในกรณีที่ไม่มีบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 13 ที่จะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ จากทันตแพทย์ที่เป็น สมาชิกสามัญของสมาคมฯ

ข้อ 15 คณะกรรมการสมาคมมีตำแหน่ง และหน้าที่โดยสังเขปดังนี้

15.1 นายก ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการสมาคมฯ คณะกรรมการของสมาคมฯเป็นผู้แทนสมาคมฯ ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ
15.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมฯ ในการบริหารกิจการสมาคมฯ ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมฯ ได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมฯ เมื่อนายกสมาคมฯ ไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมฯ ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
15.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมฯ ทั้งหมดเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯในการปฏิบัติกิจการของสมาคมฯ และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมฯ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคมฯ
15.4 วิชาการ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการวิชาการในการประชุมของสมาคมฯ ส่งเสริมเพิ่มพูนวิชาการให้กับสมาชิก และร่วมกับประชาสัมพันธ์ดำเนินงานโครงการพิเศษเกี่ยวกับวิชาการ
15.5 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมฯ เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย, บัญชีงบดุลของสมาคมฯ และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมฯ ไว้เพื่อตรวจสอบ
15.6 ประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
15.7 วิเทศน์สัมพันธ์ ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับองค์กรทางทันตกรรมต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเผยแพร่กิจกรรมของสมาคมต่อองค์กรทันตกรรมต่างๆ ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ
15.8 ปฏิคม ทำหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคมฯ เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมฯ และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคมฯ
15.9 นายทะเบียน ทำหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมฯ ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมฯ จากสมาชิกกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสมซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ กรรมการใดที่มิได้กำหนดตำแหน่งไว้ให้ถือว่าเป็นกรรมการกลางคณะกรรมการชุดแรกให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมฯ เป็นผู้เลือกตั้งประกอบด้วยนายกสมาคมฯ และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคมฯ

ข้อ 16 คณะกรรมการของสมาคมฯ สามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 3 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้วแต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการก็ให้คณะกรรมการที่ครบวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ให้ทำการส่ง และรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่า และคณะกรรมการชุดใหม่ ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ 17 ตำแหน่งกรรมการสมาคมฯ ถ้าต้องว่างลงก่อนกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้ารับตำแหน่ง แทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 18 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่งซึ่งมิใช่การออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

18.1 ตาย
18.2 ลาออก
18.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
18.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 19 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ 20 เมื่อนายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ พ้นจากตำแหน่งเมื่อครบวาระ หรือโดยกรณีอื่นตามข้อ 18 นายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ จะดำรงตำแหน่งเดิมต่อเนื่องกันได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

21.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
21.2 มีอำนาจแต่งตั้ง และถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ
21.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
21.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
21.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
21.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมฯ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
21.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมดรวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมฯ
21.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือร้องขอ
21.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน และการดำเนินกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
21.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมฯ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน และจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
21.11 มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 22 คณะกรรมการจะต้องประชุมอย่างน้อย ปีละ 3 ครั้ง  ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคมฯ

ข้อ 23 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุมมติของที่ประชุมคณะกรรมการถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 24 ในการประชุมคณะกรรมการถ้านายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้กรรมการที่ประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเองเพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่

ข้อ 25 การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด คือ

25.1 ประชุมใหญ่สามัญ
25.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 26 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง

ข้อ 27 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 28 การเรียกประชุมใหญ่ คณะกรรมการของสมาคมฯ ต้องส่งหนังสือนัดประชุมไปยังสมาชิกทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของสมาคมฯ ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน  หรือลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน ก็ได้การเรียกประชุมใหญ่ต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และระเบียบวาระการประชุม และจัดส่งรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องตามควรสำหรับการเรียกประชุมใหญ่โดยการพิมพ์โฆษณารายละเอียด และเอกสารจะต้องจัดไว้และพร้อมที่จะมอบให้แก่แก่สมาชิกที่ร้องขอ ณ สถานที่ที่ประชุมกำหนด

ข้อ 29 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

29.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
29.2 แถลงบัญชีรายรับ – รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
29.3 เลือกตั้งนายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ เมื่อครบกำหนดวาระ
29.4 แต่งตั้งผู้สอบบัญชี
29.5 เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ 30 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 150 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควร แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไป แล้วยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไปให้คณะกรรมการของสมาคมฯ เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่นับประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 31 การลงมติต่าง ในที่ประชุมใหญ่ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 32 ในการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ถ้านายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5 การเงิน และทรัพย์สิน

ข้อ 33 การเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมฯ ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์

ข้อ 34 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมฯ จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมฯ หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการพร้อมกับประทับตราของสมาคมฯ จึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 35 ให้นายกสมาคมฯ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมฯ ได้ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติ ให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ

ข้อ 36 ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมฯ ได้ไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมฯ ทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 37 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชี รายรับ – รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือการจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคมฯ หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทนพร้อมกับประทับตราของสมาคมฯ ทุกครั้ง

ข้อ 38 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 39 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชี และทรัพย์สินของสมาคมฯ ได้

ข้อ 40 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการยกเลิกสมาคม

ข้อ 41 ข้อบังคับสมาคมฯ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 150 คน มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 42 การเลิกสมาคมฯ จะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมฯ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดและองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ 43 เมื่อสมาคมฯ ต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตามทรัพย์สินของสมาคมฯ ที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของ มูลนิธิชัยพัฒนา

หมวดที่ 7 บทเฉพาะกาล

ข้อ 44 ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่สมาคมฯ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 45 เมื่อสมาคมฯ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญและสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป

ข้อ 46 นับแต่วันที่ระเบียบข้อบังคับนี้ประกาศใช้ให้ถือว่าสมาชิกสามัญชมรมทันตกรรมรากเทียมเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมทันตกรรมรากเทียมแห่งประเทศไทย

About